วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร



1.  ระบบและวิธีการเชิงระบบ
                การทำงานใด ๆ ให้ประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นย่อมเกิดจากพื้นฐานวิธีการที่มีลำดับและขั้นตอนชัดเจนสามารถปฏิบัติซ้ำ ๆ ได้หลายครั้งอย่างถูกต้องและสมเหตุสมผลทุกครั้งไป เราเรียกกระบวนการและขั้นตอนนั้นว่า ระบบ

ระบบ (System) หมายถึง การทำงานขององค์ประกอบย่อย ๆ อย่างอิสระแต่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันจนกลายเป็นโครงสร้างที่สมบูรณ์ของแต่ละงาน สามารถตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขได้ทุกขั้นตอน ระบบจึงเป็นหัวใจสำคัญของงานหรือการดำเนินงานทุกประเภท

 วิธีการเชิงระบบ (System Approach) วิธีเชิงระบบหรือวิธีระบบคือคำๆเดียวกัน เป็นกระบวนการคิดหรือการทำงานอย่างมีแบบแผนชัดเจนในการนำเนื้อหาความรู้ด้านต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการหรือผลผลิตมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้วิธีระบบยังเป็นการช่วยป้องกันและแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นด้วย

องค์ประกอบของวิธีระบบ
วิธีระบบมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
      1)   ปัจจัยนำเข้า (Input) หมายถึง วัตถุสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงเหตุการณ์ สถานการณ์ วัตถุประสงค์  ปัญหา ความต้องการ  ข้อกำหนด  กฎเกณฑ์ อันเป็นต้นเหตุของประเด็นปัญหา
     2)  กระบวนการ (Process) หมายถึง วิธีการ ขั้นตอนในการปฏิบัติงาน การสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาและปัจจัยนำเข้าให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือความต้องการ
      3)  ผลลัพธ์ (Output) หมายถึง ผลงานที่ได้จากกระบวนการจัดการวัตถุดิบหรือปัจจัยนำเข้า ผลงานที่ได้รับอาจจะเป็นวิธีการหรือชิ้นงานก็ได้ ซึ่งสามารถประเมินผลและตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ (feedback) ได้




2. ระบบสารสนเทศ

                ระบบสารสนเทศ (Information System) คือ การประมวลผลข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นกระบวนการเพื่อให้ข้อมูลในรูปของข่าวสารที่เป็นประโยชน์สูงสุด และเป็นข้อสรุปที่สามารถนำไปใช้สนับสนุนการบริหาร และการตัดสินใจ ทั้งในระดับปฏิบัติการ ระดับกลาง และระดับสูง ระบบสารสนเทศจึงเป็นระบบที่จัดตั้งขึ้น เพื่อปฏิบัติการเกี่ยวกับข้อมูล ดังต่อไปนี้

1)  รวบรวมข้อมูลทั้งภายใน ภายนอก ที่จำเป็นต่อหน่วยงาน
2)  จัดกระทำเกี่ยวกับข้อมูลเพื่อให้เป็นสารสนเทศที่พร้อมจะใช้ประโยชน์ได้
3)  จัดให้มีระบบเก็บเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกต่อการค้นหาและนำไปใช้
4)  มีการปรับปรุงข้อมูลเสมอเพื่อให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันตลอดเวลา




3. องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ
                การจำแนกองค์ประกอบระบบสารสนเทศมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับเกณฑ์หรือวัตถุประสงค์ของแต่ละงาน ในที่นี้จำแนกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ องค์ประกอบหลัก และองค์ประกอบด้านต่าง ๆ
3.1  องค์ประกอบหลักของระบบสารสนเทศ
องค์ประกอบหลักของระบบสานสนเทศมีองค์ประกอบหลัก 2  ส่วน ได้แก่ ระบบการคิด  และระบบของเครื่องมือ
ระบบการคิด หมายถึง  กระบวนการและขั้นตอนในการจัดลำดับ จำแนก แจกแจง และจัดหมวดหมู่ข้อมูลต่าง ๆ  เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและเผยแพร่
   ระบบเครื่องมือ หมายถึง วัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่นำมาใช้ในการรวบรวม  จัดเก็บ  และเผยแพร่สารสนเทศให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

3.2  องค์ประกอบด้านต่าง ๆ ของระบบสารสนเทศ
                เนื่องจากสารสนเทศ  เป็นวิธีการหรือกระบวนการในการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานต่าง ๆ  ดังนั้นองค์ประกอบสารสนเทศของงานแต่ละด้านจึงแตกต่างกัน ดังนี้
3.2.1     องค์ประกอบของสารสนเทศด้านจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา มี 4 ประการ ได้แก่ ข้อมูล (Data)  สารสนเทศ (Information)  ความรู้ (Knowledge)  ปัญญา (Wisdom) ที่ช่วยแก้ปัญหาในการดำเนินงาน





3.2.2 องค์ประกอบของสารสนเทศด้านขั้นตอน ในการดำเนินงานมี 3 ประการ คือ ข้อมูลนำเข้า(Input) กระบวนการ (Process) และผลลัพธ์ (Output) การทำงานจะเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนข้อมูลดิบที่เข้ามาสู่การคำนวณประมวลผลหรือการกลั่นกรองจนได้ชิ้นงานหรือผลลัพธ์ (output) และจัดเก็บเพื่อนำออกมาเผยแพร่ในลักษณะของสารสนเทศต่อไป



3.2.3 องค์ประกอบของสารสนเทศในหน่วยงาน ได้แก่ บุคคลหรือองค์กร  เทคโนโลยี  ข้อมูล  และระบบสารสนเทศ
 


3.2.4.องค์ประกอบระบบสารสนเทศทั่วไป (Information Process Systems) ประกอบด้วย 5องค์ประกอบดังนี้ คือเครื่องคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสื่อสารข้อมูล (hardware)ข้อมูล(data)สารสนเทศ(information)โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ (software) บุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ (people ware)


เครือข่ายสื่อสารข้อมูล  คือ  เครือข่ายคอมพิวเตอร์ซึ่งใช้เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกันให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนกันได้  โดยใช้สายสื่อสารข้อมูลที่ทำจากทองแดงหรือเส้นใยแก้วนำแสง  นิยมแบ่งเครือข่ายตามขนาดพื้นที่และจำนวนเครื่องที่ใช้งาน ได้แก่

1. แลน  (LAN  =  Local  Area  Network)  คือเครือข่ายบริเวณเฉพาะที่  จำกัดเขตเฉพาะภายในบริเวณอาคารหรือกลุ่มอาคารที่อยู่ใกล้กัน  เนื่องจากข้อจำกัดของตัวกลางที่ใช้ส่งข้อมูล  เช่น  ภายในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย  เป็นต้น
2. แวน (WAN =  Wide  Area  Network)  คือเครือข่ายบริเวณกว้าง  ระยะทางมากกว่า  10  กิโลเมตรขึ้นไปจนมากกว่าหลายพันกิโลเมตร  ปกติเชื่อมโยงด้วยระบบสื่อสารสาธารณะ  เช่น  สายโทรศัพท์  เครือข่ายเส้นใยแก้วนำแสง  หรือเครือข่ายสัญญาณดาวเทียม  เป็นต้น

3. อินเทอร์เน็ต  (Internet)  คือเครือข่ายขนาดใหญ่  ประกอบด้วยเครือข่ายแวนจำนวนมาก  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างไกลทั่วโลก




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น